พระนมปริกพระนมเอกผู้ใหญ่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

พระนมปริกพระนมเอกผู้ใหญ่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
 
 
               พระนมปริก เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๙๒ พ.ศ. ๒๓๗๓  ซึ่งเป็นปีที่ ๗ แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
 
               พระนมปริกเป็นธิดาของพระยาอิสรานุภาพ (ขุนเณรน้อย) เกิดแต่ภรรยาคนที่ ๑๐ คือ ท่านขำ  ถือกำเนิดที่บ้านบิดาตั้งอยู่ฟากตะวันตกแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างวัดอรุณราชวรารามกับกุฎีเจ้าเซนกรุงเทพมหานคร   มีพี่น้องร่วมบิดาทั้งสิ้น ๑๘ คน
 
                พระยาอิศรานุภาพ (ขุนเณรน้อย) เป็นบุตรชายคนโตของพระเทพเพ็ชรรัตน์ (นาค) และท่านฉิม (หรืออีกชื่อคือท่านรอด)
                พระเทพเพ็ชรรัตน์ (นาค) เป็นบุตรชาย ของพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) ซึ่งเป็นราชินิกูลรัชกาลที่ ๕
                ท่านฉิม (หรืออีกชื่อคือท่านรอด) เป็นบุตรีของท่านผ่อง กับ พระอักษรสมบัติ หม่อมราชวงศ์ทับ (ราชตระกูลกรุงเก่า) 
 
                พระนมปริกนั้นมีบุรพชนอันเป็นชั้นสูงในจำพวกที่กล่าวว่า "ผู้ดีแปดสายแรก" ผู้หนึ่ง  เพราะเป็นราชินิกูลรัชกาลที่ ๓ และที่ ๕ 
                    ทางบิดาของพระยาอิศรานุภาพ =>พระเทพเพ็ชรรัตน(นาค) 
                    สายราชินิกูลรัชกาลที่ ๕ {คือสกุลอำมาตย์รามัญ (หงส์ทอง)} หนึ่ง
                    ทางมารดาของพระยาอิศรานุภาพ =>ท่านฉิม(หรือท่านรอด)
                    สายราชินิกูลรัชกาลที่ ๓ {คือสกุลแขกชาติสุนีวัดหงส์} หนึ่ง
                    สายราชินิกูลรัชกาลที่ ๓ {คือสกุลชาวสวนวัดหนัง} หนึ่ง
                    สายแขกชาติสุนีพัทลุง {คือสกุล ณ พัทลุง} หนึ่ง
                    สายราชสกุลกรุงทวาราวดี (กรุงเก่า) {คือสกุล ม.ร.ว.ทับ} หนึ่ง
 
                เมื่อพระนมปริกมีอายุได้ ๒ ปี เจ้าจอมพึ่งในรัชกาลที่ ๓ ผู้เป็นพี่ใหญ่ มีความเสน่หารักใคร่รับไปประคับประคองเลี้ยงดูไว้ในพระบรมมหาราชวัง ให้การศึกษาอบรมที่เหมาะสมกับกุลสตรีแห่งยุคสมัยนั้น เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระยาอิศรานุภาพผู้บิดาได้จัดการมงคลตัดจุกตามประเพณี แล้วก็กลับเข้าไปอยู่กับเจ้าจอมพึ่งพี่สาวในพระบรมมหาราชวังตามเดิม จนถึงอายุได้ ๒๐ ปี พระยาอิศรานุภาพบิดาซึ่งในเวลานั้นยังเป็นพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร มีความเมตตาปราณีนายเสถียรรักษา ปลัดวังซ้าย (เที่ยง)  จึ่งได้จัดการวิวาหมงคลยกพระนมปริกบุตรีให้เป็นภรรยานายเสถียรรักษา มีบุตรและบุตรีด้วยกัน ๙ คน พอจะลำดับชื่อได้ดังนี้
คนที่ ๑ เป็นหญิง ชื่อ เขียน เป็นพระสนมในเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ก่อนเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ต่อมาได้กราบถวายบังคมลาถือเพศเป็นชี
คนที่ ๒ เป็นชาย ชื่อ ศรีสิทธิ์ เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเป็นหลวงอินทรมนตรี กรมสรรพากร ภายหลังออกบวชเป็นพระภิกขุ
คนที่ ๓ เป็นหญิง ชื่อ วาด เป็นเจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ ๕ มีพระโอรส คือ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุล "ฉัตรชัย"
คนที่ ๔ เป็นหญิง ชื่อ เชย
คนที่ ๕ เป็นหญิง ชื่อ ชื่น
คนที่ ๖ เป็นหญิง ชื่อ แปลก สมรสกับพระยาไชยนันทน์ นิพัทธพงศ์ (เชย ไชยนันทน์)
คนที่ ๗ , คนที่ ๘ และ คนที่ ๙ นั้นไม่ทราบชื่อ
 
 
                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ ให้พระนมปริกเป็น "พระนมเอก" ผู้ถวายพระนมและการอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่แรก เสด็จพระราชสมภพดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  ขณะนั้นพระนมปริกได้คลอดธิดาคนแรก  พระยาอิศรานุภาพจึงได้ถวายพระนมปริกให้เป็นพระนม สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์    
                ผู้รับหน้าที่อภิบาลพระราชโอรสธิดากษัตริย์นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องคัดเลือกจากสตรีสูงศักดิ์ที่เป็นญาติวงศ์ใกล้ชิด (ซึ่งบิดาพระนมปริกคือพระยาอิศรานุภาพนั้นนับเป็นญาติใกล้ชิดสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี)  อีกทั้งต้องมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง ลักษณะท่าทางบุคลิกภาพต้องดี เพราะทารกย่อมมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้ให้นมดื่มกินและกับผู้เห่กล่อมนอน เมื่อโตขึ้นรู้ความมักถือเอาแม่นมนั้นสำคัญเสมอแม่บังเกิดเกล้าของตัวอีกคนหนึ่ง  ต่อมาสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อมีพระประสูติกาล สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกถวายพระนมแด่พระราชธิดาอีกครั้งหนึ่ง และมีพระราชประสงค์จะให้พระนมปริกได้ถวายพระนมแต่พระราชโอรสและพระราชธิดาซึ่งจะประสูติในวันข้างหน้าอีก  
                เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ทรงเจริญพระชนมายุขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกกลับออกมาอยู่บ้านได้   ต่อเมื่อได้ประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเวลาเดียวกับพระนมปริกคลอดบุตรและธิดาร่วมปีประสูติเช่นเดียวกัน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกถวายพระนมแด่พระธิดาและพระโอรสข้างต้น สมพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
 
 
                 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระนมปริกมีอายุมากขึ้นและให้พระนมไม่ได้แล้ว  แต่ก็ยังได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกทำหน้าที่สรงน้ำ ประคับประคองและถวายการอภิบาล แด่พระราชโอรสและพระราชธิดาที่จะประสูติเกือบจะทุกพระองค์ มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ที่ประสูติ แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) แต่เสด็จสวรรคตขณะทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร  (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖), สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เป็นต้น 
 
                พระนมปริกได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๓ (ตติยจุลจอมเกล้า) และกล่องหมากเงินสลักลายเบามีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร. เป็นเกียรติยศ และได้รับพระมหากรุณาอุปการะเป็นเอนกประการ มีเบี้ยหวัด เงินปี เป็นต้น กับทั้งได้พระราชทานผ้าน้ำสงกรานต์เสมอทุกปีมา  และเมื่อพระนมปริกบำเพ็ญกุศลครบ ๘๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานเงิน ๘๐๐ บาท เท่าอายุเป็นพิเศษด้วย
 
                 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนมปริกชราภาพมากขึ้น มีโรคเบียดเบียนป่วยเป็นลมอัมพาตไปไหนไม่ได้มาช้านาน ครั้งหนึ่งมีอาการเพียบมาก ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายกราบถวายบังคมลา   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระอาลัยสังเวชสลดพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเสนาบดีกระทรวงวังว่า พระนมปริกเป็นพระนมผู้มีอัธยาศรัยดีมาก มีความจงรักภักดีโดยซื่อสัตย์สุจริตต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีก็ทรงยกย่องว่าเป็นพระญาติ  ถ้าพระนมปริกถึงแก่กรรมลงเมื่อใด พระราชทานเกียรติยศให้เป็นศพโกษฐ์   บังเอิญเวลานั้นอาการป่วยของพระนมปริกฟื้นขึ้น แพทย์ได้รักษาพยาบาลต่อมา มีอาการฟื้นบ้างทรงบ้างทรุดบ้างจากนั้นอีก ๓ ปี ในแผ่นดินรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนมปริกจึงถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐  พ.ศ. ๒๔๕๔  สิริอายุได้ ๘๑ ปี
 
                  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) นำดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลาแทนพระนมปริก (ขรัวยาย)   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง จัดเครื่องเกียรติยศศพ ตามกระแสพระราชดำรัสสั่งไว้แต่ครั้งในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทุกประการ
 
                  ในการศพพระนมปริกนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) กับ เจ้าจอมมารดาวาดเป็นเจ้าภาพ ได้จัดการที่วังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  มีพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการ แลวงศ์ญาติเป็นอันมากได้มาอาบน้ำศพ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช (จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เป็นผู้ประทานน้ำของหลวงอาบศพ เจ้าพนักงานแต่งศพยกลงลองใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดชทรงสวมลอมพอกศพประทาน แล้วเชิญศพขึ้นตั้งที่ประกอบโกษฐ์ มีฉัตรเบญจาแวดล้อม กลองชนะประโคมเป็นเกียรติยศ
 
                   ครั้น ณ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๑  พ.ศ. ๒๔๕๕ เจ้าภาพได้จัดการบำเพ็ญกุศลที่วังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น)   มีพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการ แลวงศ์ญาติเป็นอันมากไปประชุมกัน ช่วยการบำเพ็ญกุศล วันที่ ๒๘ พฤษภาคม เวลาบ่าย เจ้าพนักงานได้เชิญศพพระนมปริกประกอบโกษฐ์ราชนิกูลขึ้นตั้งบนรถแปลง จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น)  ไปยังสุสาน ณ วัดเทพศิรินทราวาศ เชิญศพเข้าตั้งในเมรุ แล้วพระราชทานเพลิงในวันนั้น
 
                    พระนมปริกเป็นกุลสตรีที่มีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีเป็นอย่างยิ่ง ในวัยเด็กได้รับการศึกษาอบรมเลี้ยงดูในพระบรมมหาราชวังแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อเติบโดออกไปมีเหย้าเรือนแล้วยังได้รับไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ให้เป็นพระนมแด่พระราชโอรสและธิดาทั้ง ๔ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ และจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  พระนมปริกจึงได้อยู่ในฐานะพระนมเอก ที่ได้ถวายพระนมแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมครรโภทร  ที่พิเศษกว่าพระนมอื่นใดนั้น ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสและพระราชธิดาจะประสูติ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกทำหน้าที่สรงน้ำ ประคับประคองและถวายการอภิบาลเบื้องต้นเกือบจะทุกพระองค์   นอกจากเป็นพระนมที่ดีแล้ว พระนมปริกยังเป็นราชินิกุล และเป็นแม่ยายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ท้ายที่สุดเป็นขรัวยายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน   ดั่งนี้แล้วจึงควรสรรเสริญพระนมปริกเป็น "พระนมเอกผู้ใหญ่ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "
 
 
ผังแสดงความสัมพันธ์ ราชินิกูลรัชกาลที่ ๓ และ ราชินิกูลรัชกาลที่ ๕ อันเกี่ยวเนื่องกับพระนมปริก
 
 
 ผังตระกูล เจ้าพระยาจักรีศรีสมุหองครักษ์ (แขก) หมุด หวังหะสัน
สกุลแขกสุนีวัดหงส์ ราชินิกูลรัชกาลที่ ๓
 
ผังตระกูล ท่านผ่อง และ พระอักษรสมบัติ (หม่อมราชวงศ์ทับ)
 
ผังตระกูล พระยารัตนจักร (หงส์ทอง)
 
ผังตระกูล พระยาอิศราภาพ (ขุนเณรน้อย)
 
 
 
หนังสือประกอบการเขียน
ประวัติพระนมปริกแลเทศนาพิเศษพระรัฐประศาสนนัย. พิมพ์แจกในการศพพระนมปริก พ.ศ. ๑๓๑. โรงพิมพ์สุภการ จำรูญ ๒๔๕๕
ภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช, จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้า. ราชินิกูลรัชกาลที่ ๓. มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์ ๒๕๓๕.
__________. ราชินิกูลรัชกาลที่ ๕. หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๗ สิงหาคม ๒๕๒๒.
มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร และรวมความรู้เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่กัว. กรุงเทพ  ๒๕๔๔
เล็ก วงศ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : ข้าวฟ่าง ๒๕๔๙ 
องค์ บรรจุน. หญิงมอญ อำนาจและราชสำนัก. กรุงเทพ : มติชน ๒๕๕๐
ศันสนีย์  วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพ : มติชน ๒๕๕๒
 

พระนมปริกพระนมเอกผู้ใหญ่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย ตะวัน ธนวสุมงคล อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ tawanguide.spaces.live.com.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://tawanguide.spaces.live.com
 

About ☀Tawan™ Guide ☀

a Professional Tour Guide
This entry was posted in 2. ตะวันสัมผัสมาอย่างไร เขียนไปอย่างนั้น. Bookmark the permalink.

Leave a comment