แบ่งปันประสบการณ์ของพ่อแม่ที่ส่งลูกไปปฏิบัติธรรม

แบ่งปันประสบการณ์ของพ่อแม่ที่ส่งลูกไปปฏิบัติธรรม

      พ่อแม่ควรตอบคำถามนี้ก่อน

      ส่งลูกไปปฏิบัติธรรมทำไม?  

คำตอบที่พ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวัง คือ ลูกจะได้เป็นคนดี มีศีลมีธรรมคุ้มครอง ซึ่งก็คือต้องการส่งเสริมลูกให้เป็นคนที่มีคุณธรรมนั่นเอง

พ่อแม่บางคนขอให้ลูกไปปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้ทำความดี ละเว้นความชั่ว รู้จักเกรงกลัวและละอายที่จะทำบาป แยกแยะความดีความชั่วได้

พ่อแม่บางคนก็ส่งลูกตาม ๆ เขาไป เพราะเขาบอกว่าดี ทำตามกระแสโลก ตามค่านิยมของสังคม

ผู้ปกครองบางท่านต้องการส่งลูกหลานไปดัดนิสัยเพราะเด็กอยู่บ้านดื้อเหลือเกิน ไม่เชื่อฟังใครเลย  หวังว่าวิทยากรจะช่วยขัดเกลาให้มีนิสัยดีขึ้น

ฯลฯ

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ขออนุโมทนากับพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามาหาข้อมูลเพื่อส่งลูกหลานไปปฏิบัติธรรมครับ เพราะท่านคิดถูกและกำลังทำถูกแล้วครึ่งหนึ่ง

การมอบปัญญาทางธรรมเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐสุดที่พ่อแม่พึงมอบให้ลูก

แต่ผลสำเร็จของการเป็นคนดีมีคุณธรรมไม่ได้เกิดจากการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ผู้ปกครองอาจลืมนึกไปว่าการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่แล้วใช้ระยะเวลาไม่เกิน ๗ วัน ซึ่งพระอาจารย์ก็ดี วิทยากรก็ดี พี่เลี้ยงก็ดี ได้พยายามเต็มที่แล้วให้ลูกท่านเป็นคนดีได้ตลอดระยะเวลาการอบรม แต่อีก ๓๕๘ วันที่เหลือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ครับที่จะต้องอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีมีคุณธรรมตามแบบที่ท่านต้องการ

      เตรียมตัวส่งลูกไปปฏิบัติธรรม

๑. ก่อนอื่นพ่อแม่ควรปฏิบัติธรรมเป็นตัวอย่าง หมายถึงเข้าอบรมปฏิบัติธรรมอย่างน้อย ๗ วัน  เพื่อท่านจะได้รู้ว่าลูกของเราจะต้องไปเจออะไรบ้าง อาทิ แนวทางการปฏิบัติ เช่น รักษาศีล ๘, นั่งสมาธิและเดินจงกลมวันละอย่างน้อย ๖ ชั่วโมง, เวลาตื่นนอนตีสี่และการเข้านอนสี่ทุ่ม, การรับประทานอาหารวันละ ๒ มื้อ, วิธีจัดการกับความเหนื่อยล้าปวดเมื่อย ฯลฯ  ซึ่งประสบการณ์ที่ท่านได้รับจะให้คำอธิบายที่ดีที่สุดเมื่อลูกถามท่านว่าไปปฏิบัติธรรมแล้วได้อะไร เขาไปทำอะไรกัน

๒. เตรียมตัวสมัคร สถานปฏิบัติธรรมบางแห่งต้องลงทะเบียนสมัครล่วงหน้าหลายเดือน

๓. จัดตารางเวลาให้พร้อมสำหรับการไปส่งและรับลูกกลับ จัดการกับธุระ การงาน การนัดหมายอื่น ๆ ให้เรียบร้อย  วันที่ไปส่งและรับลูกควรจะเป็นพ่อแม่ที่ไปส่ง ไม่ใช่ให้คนอื่นไปทำหน้าที่แทนครับ การปฐมนิเทศน์และปัจฉิมนิเทศน์เป็นโอกาสที่ผู้จัดอบรมและผู้ปกครองจะได้ทำข้อตกลงและเข้าใจวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมครับ

๔. เตรียมร่างกายจิตใจของลูกให้แข็งแรง พยายามให้ลูกเข้านอนไวขึ้นและฝึกให้ตื่นเช้า เพื่อจะได้คุ้นเคยกับการตื่นเช้าเพื่อทำวัตรสวดมนต์

๕. บอกความจริงกับลูก ว่าเขาต้องไปทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ระยะเวลากี่วัน ต้องเจอกับอะไรบ้างทั้งทางบวกและทางลบ เช่น ได้ทำความดี ได้ความสงบสุข ได้สมาธิ ได้ปัญญา ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับ ความหิว ความง่วง ความเหนื่อย ความเจ็บปวด ด้วย    การแสดงออกของพ่อแม่มีส่วนส่งเสริมให้ลูกเกิดความมั่นใจที่จะอยู่ครบตามระยะเวลาการปฏิบัติธรรม บอกลูกทุกครั้งว่า “ลูกทำได้”

      สถานปฏิบัติธรรมสำหรับเยาวชน

ควรศึกษาระเบียบปฏิบัติของแต่ละสถานที่ เมื่อมั่นใจและยอมรับว่าลูกปฏิบัติตามได้ จึงส่งใบสมัคร สถานปฏิบัติธรรมสำหรับเยาวชนมีหลายแห่ง ได้แก่

โครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ปฏิบัติธรรมสำหรับเด็ก ปี 2555 ณ อาคารมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ซอยกรุงเทพกรีฑา 20 ถนนกรุงเทพกรีฑา เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนสยามสามไตร โทร.  02 311 0134  http://www.watpahsunan.org/ หรือ  http://www.facebook.com/Dhama4kids

กำหนดการปฏิบัติธรรมสำหรับเด็กปี 2555 ณ อาคารมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ครั้งที่ 1. 21-22 มกราคม 2555
ครั้งที่ 2. 25-26 กุมภาพันธ์ 2555
ครั้งที่ 3. 24-25 มีนาคม 2555
ครั้งที่ 4. 21-22 เมษายน  2555
ครั้งที่ 5. 19-20 พฤษภาคม   2555
ครั้งที่ 6. 23-24 มิถุนายน  2555
ครั้งที่ 7. 21-22 กรกฎาคม  2555
ครั้งที่ 8. 25-26 สิงหาคม  2555
ครั้งที่ 9. 22-23 กันยายน  2555
ครั้งที่ 10. 27-28  ตุลาคม  2555
ครั้งที่ 11. 24-25 พฤศจิกายน   2555
ครั้งที่ 12. 22-23 ธันวาคม   2555
(ปรับปรุงเมื่อ 17 มกราคม 2555)

ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขที่ ๔ ซอยเพชรเกษม ๕๔ แยก ๖ แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐   โทรศัพท์ ๐-๒๔๕๕-๒๕๒๕ โทรสาร ๐-๒๔๑๓-๓๑๓๑ :-

โครงการธรรมบุตรี เป็นโครงการปฏิบัติวิปัสสนาเคร่งครัดแบบระยะสั้นที่เปิดรับเยาวชนหญิงตั้งแต่อายุ ๗ – ๒๕ปี โดยจะใช้การพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้เข้าร่วมโครงการต้องรักษาศีล ๘ สวดมนต์ทำวัตร เช้า – เย็น ฟังธรรมบรรยาย และปฏิบัติวิปัสสนาวันละ ๘ ชั่วโมง และอยู่ในระเบียบการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ยุวธรรมบุตร ถือ ศีล ๘ สวดมนต์ทำวัตร เรียนพระปริยัติธรรม และปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อ พัฒนาตนเองด้านความอดทน ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา ๕ วัน

วิปัสสนาลูกกตัญญู โครงการปฏิบัติวิปัสสนาสำหรับครอบครัวยุวบัณฑิตสามเณร และธรรมบุตรี โดยเน้นการปฏิบัติตามตารางของโครงการต่าง ๆ (แบบ ๕ วัน)เพื่อให้ยุวบัณฑิตฯ ได้ตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ผู้ปกครอง และสร้างครอบครัวที่เป็นกัลยาณมิตร

โครงการสามเณรใจเพชร เป็นโครงการสำหรับเยาวชนชาย มีเตรียมความพร้อมและคัดเลือกเป็นสามเณรที่มีความเข้มงวดในศีล มีจริยาวัตรเรียบร้อย และต้องปฏิบัติวิปัสสนาวันละ ๘ ชั่วโมง
โครงการสามเณรลูกแก้ว เป็นโครงการสำหรับเยาวชนชายอายุ ๙ -๑๓ ปี จึงมีระยะเวลาโครงการสั้นกว่าโครงการสามเณรใจเพชร โดย สามเณรจะต้องปฏิบัติวิปัสสนาวันละ ๖ – ๘ ชั่วโมง และมีบิณฑบาต

โครงการสามเณรรัตนะ เป็นโครงการสำหรับเยาวชนชายอายุ ๑๐ –๑๘ ปี ที่จัดขึ้นช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม โดยสามเณรจะต้องปฏิบัติวิปัสสนาวันละ ๖ – ๘ ชั่วโมง

      รายละเอียดกฏกติกาของผู้เข้าร่วมโครงการฯ http://www.ybat.org/download/rule.pdf

โครงการพัฒนาจิตเยาวชนแบบบูรณาการ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดย ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.ybat.org/samanen.html

เสถียรธรรมสถาน  เลขที่ ๒๔/๕ ซอยวัชรพล รามอินทรา ๕๕ กรุงเทพ ฯ รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๓๐ โทรศัพท์ ๐-๒๕๑๐-๖๖๙๗, ๐-๒๕๑๐-๔๗๕๖ โทรสาร ๐o-๒๕๑๙-๔๖๓๓ :-

จิตประภัสสร หรือโรงเรียนพ่อแม่ วัตถุประสงค์  เพื่อให้พ่อแม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นคน “สุขง่าย ทุกข์ยาก”  ตามหลักภาวนา 4 (กายภาวนา  ศีลภาวนา จิตตภาวนาและปัญญาภาวนา)  และ เพื่อให้ครอบครัวที่เข้าร่วมได้ถักทอกันเป็นวงศาคณาญาติ  ที่มีสัมมาทิษฐิในการเลี้ยงดูลูกและเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ข้อมูลเพิ่มเติม

http://www.sdsweb.org/sdsweb/

http://www.sdsweb.org/sdsweb/index.php?option=com_content&view=article&id=226&Itemid=151

วัดพระธรรมกาย  :-
โครงการปฏิบัติธรรมสำหรับเด็ก อายุ ๘ – ๑๕ ปี ช่วงปิดภาคเรียน ระยะเวลาการอบรม ๒ สัปดาห์ สอบถามรายละเอียดได้ที่โครงการยุวกัลยาณมิตร โทร. ๐๒ ๘๓๑ ๑๑๘๐, ๐๘ ๕๑๓๔ ๑๘๑๒, ๐๘ ๙๖๘๗ ๑๙๑๐    หรือวันอาทิตย์ ณ เสา P5 สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย  http://www.kalyanamitra.org/meditation/yuwa.html

การเก็บกระเป๋า เสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็นสำหรับการไปปฏิบัติธรรม  

สิ่งที่ควรให้เด็กนำไปด้วย ได้แก่

     – เสื้อผ้าสีขาวหรือสีสุภาพตามแต่ละสถานที่เขาจะกำหนดไว้ โปรดเตรียมให้พอกับจำนวนวันที่ต้องไปปฏิบัติ เช่น ปฏิบัติ ๗ วัน ควรเตรียมไป ๗ ชุดเป็นอย่างน้อย อาจเตรียมชุดนอนไปด้วย
     – ชุดชั้นใน หรือซับในตามจำนวนวัน
     – ผ้าเช็ดตัว ๑ ผืน
     – ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่  ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แชมพูสระผม
     – รองเท้าแตะ
     – ยาประจำตัว

สิ่งที่ไม่ควรให้เด็กนำไปด้วย ได้แก่

     – ของมีค่า เช่น เงิน ทอง นาฬิกา สายสร้อย ต่างหู
     – สิ่งประทินโฉม / เครื่องสำอางค์ / เครื่องประดับ เช่น แป้ง โลชั่น ลิปสติก น้ำหอม กิ๊ฟติดผม
     – โทรศัพท์มือถือ
     – เกมส์
     – MP3
     – ขนม ลูกอม ของขบเคี้ยว
     – อาวุธ
.

ระหว่างที่ลูกเข้าปฏิบัติธรรม 

พ่อแม่ควรวางใจเป็นกลาง ปล่อยวาง รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่ไปแอบดูลูก หรือไปเยี่ยมลูกระหว่างการปฏิบัติ

เด็กอายุ ๘ ขวบ สามารถดูแลตัวเองได้แล้วครับและมีความสามารถปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อนและสถานที่ได้อย่างดี อย่างที่พ่อแม่คาดไม่ถึงด้วย

ในรุ่นที่ลูกผมเข้ารับการอบรม ลูกเล่าให้ฟังว่ามีน้องอายุ ๑๐ ขวบ ปฏิบัติธรรมระยะเวลา ๗ วัน เคยมาแล้วถึง ๓ ครั้ง และท่าทีมีความสุข นิ่งและสงบมาก

ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรกังวลเกินไปกับประสบการณ์ปฏิบัติธรรมครั้งแรกของลูก สถานปฏิบัติธรรมที่มีประสบการณ์ดูแลเด็กและเยาวชนจะขอหมายเลขโทรศัพท์ของพ่อแม่ผู้ปกครองไว้ และจะติดต่อกลับไปเมื่อมีเหตุฉุกเฉินครับ   ส่วนใหญ่ถ้าเด็กงอแงร้องไห้อยากกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะไม่ติดต่อไปหรอกครับ  เพราะผ่านไปสามวันเด็กก็ลืมเรื่องกลับบ้านแล้ว

ดังนั้นพ่อแม่ควรเตรียมตัวรับลูกกลับบ้านและเตรียมรักษาใจของลูกให้เป็นคนดีของครอบครัวและสังคมจะดีกว่า

เมื่อลูกกลับจากการปฏิบัติธรรม  

๑. พ่อแม่ต้องเตือนสติลูกไม่ให้ลืมสิ่งที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอน ด้วยการนำปฏิบัติเป็นแบบอย่าง เช่น นำสวดมนต์  เดินจงกลมและนั่งสมาธิ อยากให้ลูกมีศีล ๕ พ่อแม่ก็ต้องรักษาศีล ๕ เป็นตัวอย่างครับ

๒. การปฏิบัติธรรมดังกล่าวต้องทำอย่างต่อเนื่อง พยายามหาเวลาฝึกฝนลูกและตนเองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง จะได้ผลมากกว่าเข้าปฏิบัติปีละครั้งครับ

๓. การจะแก้นิสัยที่ผิด ๆ ของลูก ต้องรู้สาเหตุและแก้ที่เหตุครับ เช่น ลูกติดแชต ติดเน็ต ติดเกมส์ ติดโทรศัพท์ เป็นไปได้ว่าเวลาว่างมากเกินไป ต้องหากิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์มาเบี่ยงเบนความสนใจของเขาครับ เช่น ชวนไปเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือไปปฏิบัติธรรมทั้งครอบครัว

สิ่งที่ลูกของผมได้มาจากการปฏิบัติธรรมโครงการธรรมบุตรีแก้ว รุ่น ๔ ที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ ศูนย์ ๒ เมื่อ ๑๘-๒๔ เมษายน ๒๕๕๓

วันที่ไปรับกลับ ลูกเข้ามากราบเท้าขอโทษที่เคยทำไม่ดีกับพ่อแม่ ซึ่งเขาก็พูดออกมาเองว่า หนูขอโทษที่เถียงพ่อแม่ ขอโทษที่ไม่เชื่อฟังคำสอน  สิ่งนี้แสดงว่าลูกมีจิตสำนึกรู้ดีรู้ชั่ว แม้จะพลาดพลั้งทำไม่ดีไปบ้าง พ่อแม่เองต้องพร้อมให้อภัยลูกเสมอ

ลูกพูดถึงความในใจว่า นั่งสมาธิ ทรมานมาก ปวดขาจนร้องไห้ หนูโกรธพ่อกับแม่นะ ตอนนั้น คิดวนเวียนว่าส่งหนูมารับความทรมานได้ไง  แต่ตอนนี้หนูหายโกรธแล้ว  ถ้าจะให้มาปฏิบัติธรรมอีกก็จะมา  สิ่งนี้แสดงว่าผู้จัดการอบรมประสบความสำเร็จแล้วครับ เด็กได้เรียนรู้การเสียสละ มีจาคะเกิดขึ้น รู้จักสละความสุขความสบายจากบ้านจากครอบครัวมาใช้พื้นที่กินนอนร่วมกับคนอื่น รู้จักสละความคิดที่ไม่ดี สละความโกรธ, ความโลภ, ความหลง ซึ่งกิเลสเหล่านี้ดึงจิตให้คิดชั่วทำชั่ว

ถามลูกว่าเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ ได้แก่ ความเจ็บปวด, ความไม่ได้ดั่งใจหรือความยากลำบากต่าง ๆ ลูกผ่านมาได้อย่างไร  คำตอบของลูก ผมก็พอใจครับ ลูกตอบว่าอดทนอย่างเดียว ให้คิดว่าเราไม่เหลือใคร ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราต้องอยู่ให้ได้    สิ่งนี้แสดงว่าเด็กได้เรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้นสิ่งที่มากระทบใจ และเข้าใจโลกตามความเป็นจริง

การที่ลูกพยายามรักษาศีล ๘ ให้ครบทุกข้อ แม้ว่าจะมีโอกาสทำทุศีลและไม่มีใครเห็น   แต่เด็กก็เลือกที่จะรักษาศีลให้ครบ   ต่อไปภายภาคหน้าเด็กเหล่านี้จะเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งต่อหน้าและลับหลังพ่อแม่ผู้ปกครอง   และผลจากการเป็นปฏิบัติดีไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม ความดีนี้จะติดตามเขาไปทั้งในโลกนี้และโลกหน้าครับ

About ☀Tawan™ Guide ☀

a Professional Tour Guide
This entry was posted in 1. เข้าถึงธรรม เข้าถึงโลก เข้าถึงชีวิต. Bookmark the permalink.

Leave a comment